23/10/53

Bagan 2

พุกาม..ทะเลเจดีย์

      พุกาม..ดินแดนแห่งเจดีย์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก ( World Heritage Site ) เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก จนได้รับสมญานามว่า ป่าแห่งเจดีย์ ( forest of Pagodas ) สำรวจและขึ้นทะเบียนแล้วว่ามีเจดีย์มากถึง 2,217 แห่ง ในปัจจุบัน สมัยก่อนมีมากมายกว่าสี่พันแห่ง เจดีย์ในความหมายของชาวพม่าคือ สัญลักษณ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะความศรัทธาจึงพากันสร้างเจดีย์ไว้มากมายอย่างที่เห็น ที่พม่า.....เดินไปทางไหนเห็นพระพม่าเต็มไปหมด แต่แปลก..แม่บุญกลับไม่ค่อยศรัทธาพระที่เดินตามนักท่องเที่ยวคอยขอเงิน เหมือนที่ไหนเอ๋ย...? แล้วแถมห้อยโหนรถแบบน่าหวาดเสียวอีกด้วย

             
                                                เจดีย์มากมายตั้งอยู่รายรอบเมืองพุกาม


                พุกามตั้งอยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำอิรวดี ในเขตภาคกลาง แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำสำคัญที่ไหลจากเหนือสู่ตอนใต้ของพม่า คู่ขนานกับแม่น้ำสาละวิน แต่พุกามกลับแห้งแล้ง และเพราะอากาศแห้งจึงทำให้เจดีย์ทั้งหลายคงสภาพยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน

เช้านี้ ตั้งแต่ตีห้า...มิเชลมีอาการไข้ อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง เอาเข้าแล้วสิ อาหารเมื่อคืนแน่นอน ขนาดว่าดูกันดีแล้ว ระวังแล้ว ก็ยังไม่วายโดนจนได้ นี่แหละผลเสียของการประหยัดไฟของรัฐบาลแบบไม่คำนึงถึงโทษที่จะตามมา เกิดเป็นคนจนไม่มีปากมีเสียง เขาว่าไงก็ว่าตาม ...สงสารคนพม่าจริง ๆ

         แม่บุญ.รีบค้นหาชาพม่าที่รีเชฟชั่นที่ทะเลสาบิอนเลให้ติดตัวมา ขอน้ำร้อนให้เขาเอามาให้ถึงห้อง จัดการชงให้มิเชลดื่ม...ผลคือ แกยังไม่ได้ล้มตัวลงนอนก็เผ่นเข้าไปอ้วกแบบแม่บุญ..เหมือนกันไม่มีผิด มิเชลเดินหน้าซีดเป็นไก่ต้มหลายน้ำออกมา นอนแผ่หลาบนเตียง สักพักก็กระโดดตัวปลิวเข้าห้องน้ำอีก ตายละหว่า..อาหารเป็นพิษชัด ๆ แม่บุญค้นหายามาให้กินอีกรอบ แต่แกอ้วกออกมาหมด..


         ชักไม่ได้การ ทำไงดี พอดีไซมารับจะพาไปเที่ยว มิเชลบอกให้แม่บุญไปกับไซ แกไปไม่ไหวและไม่อยากให้แม่บุญเสียโอกาส ไหน ๆ ก็จ่ายตังค์เขาไปหมดแล้ว เล่นเอาแม่บุญทำอะไรไม่ถูก ละล้าละลังทำไงดี นั่งดูอาการแกสักพัก เห็นหลับไป เลยแอบไปกระซิบว่าจะออกไปดูเจดีย์ แต่จะรีบกลับมาให้ไว แกพยักหน้ารับ..ค่อยยังชั่ว แต่เพื่อความมั่นใจก็หายาวางไว้ใกล้มือ พร้อมชาร้อน...สาธุ อย่าเป็นอะไรมากกว่านี้เลย


                                   ร้านอาหารที่เราไปดินเนอร์กันและมิเชลท้องเสีย

          ไซ.ถามแม่บุญว่าเราไปกินข้าวกันที่ไหนเมื่อวาน แม่บุญอธิบายให้ฟัง ไซบอกว่าเราสองคนมีท้องที่ sensitive มาก เพราะก่อนหน้านี้แม่บุญท้องเสียหลายวันเพราะอาหาร ตอนนี้มิเชลมารับช่วงต่อ แล้วเราจะกินอะไรกันได้หละเนี่ย เราสองคนตกลงกันที่จะไปดูเจดีย์ที่ไม่ได้อยู่ไกลนัก เพราะอยากกลับเร็ว ๆ มาดูมิเชล ไซตกลงตามนั้น เราไปดูแห่งแรกคือ

เจดีย์ชเวสิกอน ( Shwezigon Pagoda )


                                                   เจดีย์ชเวดากอง ที่ชาวไทยเรียกกัน                                          
              เป็นเจดีย์องค์ใหญ่สีทองเหลืองอร่ามมองเห็นแต่ไกลเพราะความใหญ่โต ชาวพุกามนับถือมาก เพราะเชื่อว่า ท้าวสักกะเทวราชมาร่วมสร้าง มีเรือนของ นัท Nat ที่เป็นผีดีมาช่วยดูแลเจดีย์ เจดีย์นี้สร้างโดยพระเจ้าอะนอระธา เมื่อปี พ.ศ. 1627 แต่สำเร็จในสมัยพระเจ้ากยันสิตถา ในปี พ.ศ.1656 รวม 29 ปีเต็ม คำว่า ชเว แปลว่า ทอง ซิกอน แปลว่า หาดทราย จึงแปลรวม ๆ ว่า เจดีย์ทองริมหาดทรายสีขาว เพราะตั้งอยู่ริมฝังแม่น้ำอิรวดีนั่นเอง เชื่อกันว่าภายในเจดีย์บรรจุพระบรมสารีรกธาตุส่วนพระนลาฏ หรือ หน้าผาก และ พระทันตธาตุ หรือ ฟัน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       ทุก ๆ สิบปี ชาวพุกามจะอุทิศเงินบริจาคทรัพย์กันมากมายเพื่อซื้อทองคำมาทำแผ่นทองปิดองค์พระเจดีย์ ทำให้เป็นสีทองอร่ามตลอดเวลา เห็นแล้วก็ทึ่งในความศรัทธา เพราะพวกเขาจน ๆ กันทั้งนั้น ยังต้องมาบริจาคเงินซื้อทองปิดองค์เจดีย์กันอีก…



                                                  อีกมุมหนึ่งของเจดีย์


เวลาเข้าชมเจดีย์ต่างทุกคนต้องถอดรองเท้า บางครั้งถอดตั้งแต่หน้าประตู ถ้าเช้า ๆ ไม่เท่าไหร่ แต่พอบ่ายแดดร้อนจัด เดินกันได้ไงไม่รู้ แม่บุญเดินแบบม้าย่อง กระโดดเหมือนม้าดีดกระโหลกเพราะร้อนที่ฝ่าเท้า แม่บุญจะถือถุงไปด้วยเวลาไปวัด หรือไปชมเจดีย์ เอารองเท้าใส่แล้วถือเข้าไปข้างในเพราะกลัวหายและไม่ต้องจ่ายตังค์ค่าดูแลรักษา เห็นชาวพม่ามากมายมาไหว้ขอพรพระเจดีย์ด้วยใบหน้าสดใสเบิกบาน แล้วก็พลอยอิ่มบุญไปกับพวกเขาด้วย แม่บุญกราบขอท่านให้ช่วยดูแลมิเชลให้หายท้องเสีย อย่าให้มีปัญหาอะไรเลย สาธุ..จากนั้นก็ไปดู

เจดีย์อนันทะ 






ถือเป็นเจดีย์ที่งดงามที่สุด มีผู้คนหลั่งไหลมากราบไหว้มากมายทั้งชาวพม่าและนักท่องเที่ยว เจดีย์แห่งนี้สร้างในสมัยพระเจ้ากยันสิตถาอีกแห่ง ในปี พ.ศ. 1634 กล่าวกันว่าได้รับอิทธิพลจากถ้ำนันทมูลของอินเดีย เดิมจึงชื่อว่า เจดีย์นันทมูล และมาเปลี่ยนเป็น อนันทะ ตามชื่อพระอานนท์ในที่สุด


                                                           ทางเข้าเจดีย์อนันทะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น